บริษัทในเครือ ซี แวลู (บริษัทยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) และบริษัทไอ.เอส.เอ. แวลู จำกัด) ตระหนักถึงการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล ตลอดจนมีการดำเนินธุรกิจโดยยึดถือหลักคุณธรรม ความถูกต้อง โปร่งใส เคารพต่อสิทธิมนุษยชนสากลและหลักการด้านแรงงาน ดังนั้น ทางบริษัทฯ จึงได้จัดทำจรรยาบรรณว่าด้วยการประมงภายในประเทศฉบับนี้ และมุ่งหวังที่จะให้คู่ค้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานรับทราบ ยินยอมที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
แนวทางการปฏิบัติ
ด้านการประมงและความยั่งยืน
1.บริษัทฯ เป็นสมาชิกของ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (Thai Tuna Industry Association : TTIA) ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกมีการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง ปฏิบัติตามพระราชกำหนดการประมง เพื่อเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) โดยมีหลักการดังนี้
1.1 มีการรวบรวมหลักการทางวิชาการและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยืนยันจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรมประมงของประเทศไทย หรือสหภาพยุโรป เพื่อที่จะนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงแก้ไขการจัดการแหล่งทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย
1.2 มีการดำเนินงานภายใต้กฎระเบียบขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982)
1.3 ปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในเรื่อง IUU จะต้องได้รับการแก้ไขภายใต้ความโปร่งใส มีหลักฐานการแก้ไขและสามารถตรวจสอบได้
1.4 การสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศที่สาม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์กฎระเบียบ EU’s IUU เพื่อที่จะแก้ไขและฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรประมง
- บริษัทฯ จะทำธุรกรรมกับผู้ขายหรือเรือประมงที่ได้รับการรับรองโดยกรมประมง ประเทศไทย มีการทำประมงที่ถูกกฎหมายในน่านน้ำไทย
- บริษัทฯ จะไม่ทำธุรกรรมหรือทำการค้ากับผู้ขายหรือเรือประมงที่ทำประมงอย่างผิดกฎหมาย หรือมีพฤติกรรมการทำประมงที่เข้าข่าย IUU ในน่านน้ำอินโดนีเซีย
- บริษัทฯ ส่งเสริมและสนับสนุนมาตรการอนุรักษ์ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศ
- บริษัทฯ จะดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายและการกระทำของเราสอดคล้องและปฏิบัติตามพระราชกำหนดการประมงในด้านการต่อต้าน IUU และการทำประมงอย่างยั่งยืน
- บริษัทฯ มีการคัดเลือกและจัดการเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขายหรือเรือประมงมีแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการประมง หากพบว่าผู้ขายหรือเรือประมงไม่ปฏิบัติตามหรือมีแนวโน้มของปัญหาด้านการประมง IUU ทางบริษัทฯ จะยุติการทำธุรกรรมจนกว่าผู้ขายหรือเรือประมงจะสามารถแก้ไขปัญหาและมีการปฏิบัติที่ทำให้ทางบริษัทฯ เชื่อมั่น เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจร่วมกันต่อไป
ด้านแรงงาน
- บริษัทฯ ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (TTIA) เพื่อต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในสถานประกอบการ โดยมีการดำเนินการดังนี้
1.1 มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานรัฐบาล NGOs และองค์กรระหว่างประเทศ
1.2 การส่งเสริม การเพิ่มประสิทธิภาพของคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ และกลไกการร้องเรียนในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ
1.3 กิจกรรมส่งเสริมการนำแนวปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานไปใช้ในสถานประกอบการ - บริษัทฯ จะทำธุรกรรมกับผู้ขายหรือเรือประมงที่มีแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการดำเนินการดังนี้
2.1 เรือประมงพื้นบ้าน (ที่มีขนาดน้อยกว่าสิบตันกรอส) เป็นคนไทยมีถิ่นพำนักในแถบทะเลชายฝั่งประเทศไทย และเรือประมงพาณิชย์ (ที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป) ต้องไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงงานที่มาจากการค้ามนุษย์และแรงงานทาสในการทำประมง
2.2 เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือที่จดทะเบียนตามกฎหมาย ต้องมีหนังสือคนประจำเรือที่จะออกไปพร้อมกับเรือประมง และต้องมีการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
2.3 คนประจำเรือ ต้องมีหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ในกรณีคนประจำเรือไม่มีสัญชาติไทย ต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และต้องได้รับการอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว
- บริษัทฯ มีการคัดเลือกและจัดการเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขายหรือเรือประมงมีแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน หากพบว่าผู้ขายหรือเรือประมงไม่ปฏิบัติตามหรือมีแนวโน้มของปัญหาด้านแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงงานที่มาจากการค้ามนุษย์และแรงงานทาส ทางบริษัทฯ จะยุติการทำธุรกรรมจนกว่าผู้ขายหรือเรือประมงจะสามารถแก้ไขปัญหา และมีการปฏิบัติที่ทำให้ทางบริษัทฯ เชื่อมั่นเพื่อที่จะดำเนินธุรกิจร่วมกันต่อไป
ด้านการสอบย้อนกลับ
- วัตถุดิบหรือสินค้าที่มาจากเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ ต้องมาจากเรือที่มีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย มีหลักฐานหนังสือคนประจำเรือ มีใบอนุญาตให้ทำการประมง ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองและได้รับอนุญาตให้ทำการประมงในน่านน้ำไทย
- วัตถุดิบหรือสินค้าที่มาจากการเพาะเลี้ยง ต้องมาจากฟาร์มที่ถูกกฎหมาย ได้รับการขึ้นทะเบียน รับรองความชอบด้วยมาตรฐานของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยกรมประมงของประเทศไทย
- วัตถุดิบหรือสินค้าสัตว์น้ำแปรรูป ต้องมาจากสถานประกอบการที่ถูกกฎหมาย ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองโดยกรมประมงของประเทศไทย
- วัตถุดิบหรือสินค้าจากการประมง การเพาะเลี้ยงและสถานประกอบการ ต้องสามารถติดตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบหรือสินค้าได้ตลอดสายการผลิตตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การขนถ่าย การแปรรูป การขนส่ง การจำหน่าย และมีการจัดเก็บบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
- วัตถุดิบหรือสินค้าที่ได้จากการประมงต้องมีหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document: MCPD) ตามระบบ Thai Flagged Catch Certificate และหากมาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องมีหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ (Movement Document: MD) เพื่อการติดตามและสืบค้นความชอบด้วยกฎหมาย