คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย กกร.ได้จัดประชุมคณะกรรมการฯ ประจำเดือนกันยายน โดยมี นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. เป็นประธานในการประชุม ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม โดยที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้จากการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ตามมาแต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัวอย่างใกล้ชิดขึ้น โดยที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75% ถึง 3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัว ได้ในกรอบ 6.0% ถึง 8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 5.5% ถึง 7.0%
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. ยังได้มีการหารือในประเด็นสำคัญ โดยที่ประชุม กกร. มีความกังวลในเรื่องต้นทุนของภาคธุรกิจ ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ประกอบด้วย
- การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาท เป็น 4.72 บาท/ หน่วย ที่จะมีผลบังคับใช้ ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20 – 30 % ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และในส่วนของภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด
- การปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
- ต้นทุนด้านแรงงาน จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 และรวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ
ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ยังมีความเปราะบาง ที่ประชุมกกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบในการปรับขึ้นปัจจัยต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ขอให้ทยอยการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ แทนการปรับขึ้นครั้งเดียว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งควรรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบเพื่อออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการดังกล่าว
ในเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย มีกฎหมายใหม่ 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ - พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอีเล็กทรอนิกส์ ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถติดต่อ และยื่นเอกสาร / คำร้องต่างๆ ทางอีเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาครัฐ
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ที่เปลี่ยนความผิด ที่เป็นคดีอาญาให้ไม่เป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป ทำให้ประชาชนที่ทำความผิดเล็กน้อย ยังถูกลงโทษปรับ แต่ไม่นับเป็นคดีอาญาและไม่มีประวัติอาชญากรรม
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ พ.ศ. 2558 ที่เสนอโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่จะปรับปรุงการขออนุญาตต่างๆ กกร.ขอขอบคุณรัฐบาล และรัฐสภา ที่เป็นผู้ผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม
ThaiChamber