สรุปใจความสำคัญ
การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เริ่มจากเมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีน และต่อมาระบาดไปอีกหลายเมือง ปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อในหลายประเทศ
ขณะนี้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ตามประกาศของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ระงับเที่ยวบินเข้าออกจากเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 และขยายเวลาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และเลื่อนการเดินทางที่ไม่จำเป็นไปพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง
ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการระบาด หากมีไข้ ร่วมกับอาการ ทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางให้เจ้าหน้าที่ทราบ
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คือ
- เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มโคโรนา ที่ทำให้มีไข้ และอาการระบบทางเดินหายใจ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจหอบเหนื่อย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- เชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะทางการไอ จามของผู้ที่มีเชื้อ
สถานการณ์ปัจจุบัน
- ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ทางการจีนรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 74,577 ราย อาการรุนแรง 12,017 ราย เสียชีวิต 2,118 ราย และพบผู้ป่วยยืนยันนอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ใน 27 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ จำนวน 1,149 ราย รวมมีผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก จำนวน 75,726 ราย ซึ่งพบผู้เสียชีวิตใน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์ และอิหร่าน รวม 8 ราย รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น จำนวน 2,126 ราย ขณะนี้มีหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คน พบผู้ป่วยยืนยันในผู้ที่ไม่มีประวัติการเดินทางไปประเทศจีน แต่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นในประเทศจีน พบว่า ระยะแรกของการระบาด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทำงานในตลาดหรือมีประวัติเดินทางไปที่ตลาด South China Seafood Market ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีการค้าสัตว์หลายชนิด เช่น นก ไก่ฟ้า งู เครื่องในกระต่าย และสัตว์ป่าอื่นๆ ตลาดดังกล่าวได้มีการจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และถูกปิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 แต่การระบาดในระยะต่อมาไม่เกี่ยวข้องกับตลาด
- ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 พบผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศไทย จำนวน 35 ราย มีอาการรุนแรง 2 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต
- กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ดำเนินการเฝ้าระวังคัดกรอง และป้องกันควบคุมโรค ดังนี้
1) ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศดำเนินการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าออกประเทศ ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ และพรมแดน รวม 46 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และกระบี่ ท่าเรือ 6 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร แหลมฉบัง พาณิชย์เชียงแสน ภูเก็ต สมุย และกระบี่ และด่านพรมแดนทางบก 34 แห่ง
2) แจ้งให้สถานพยาบาลทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ รวมมาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน หรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง ภายใน 14 วัน หรือเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สัมผัสกับผู้ป่วยตามเกณฑ์เฝ้าระวัง
3) การเฝ้าระวังในชุมชน โดยให้ความรู้ประชาชน เมื่อพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422
ภาพที่ 1 จำนวนผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลายประเทศ
ที่มา: Johns Hopkins University and Newsweek
(ข้อมูล ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563)
ความเสี่ยงสำหรับประเทศไทย
- เป็นที่ยอมรับกันว่า การคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วทำให้คนนิยมเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวที่มากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งของการแพร่กระจายเชื้อจากพื้นที่หนึ่งสู่พื้นที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ปัจจัยด้านเชื้อก่อโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการหายใจเอาละอองน้ำมูกน้ำลายเข้าสู่ร่างกาย และการสัมผัสใกล้ชิด เป็นวิธีการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นได้ง่ายหากไม่ป้องกัน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่เชื้อทั้งจากคนต่างชาติที่เข้ามาและจากคนไทยที่อาจได้รับเชื้อขณะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแล้วเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นการปฏิบัติตนในการป้องกันโรคจึงมีความสำคัญมากเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อแล้วทำให้เกิดการระบาดภายในประเทศ
- ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยพบว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดคือนักท่องเที่ยวจีน ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทย ประมาณ 10 ล้านคน หรือ 3-4 หมื่นคนต่อวัน หลังจากที่มีข่าวการระบาดของโรคดังกล่าว ทางการจีนได้สั่งปิดเมืองและจำกัดการเดินทาง พร้อมทั้งห้ามบริษัททัวร์นำเที่ยวไปต่างประเทศ จึงทำให้ช่วงนี้นักท่องเที่ยวจีนที่มาประเทศไทยมีจำนวนลดลงมาก ปัจจัยด้านนักท่องเที่ยวไทยนั้นพบว่า คนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 10 ล้านคนต่อปี ฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทยไปต่างประเทศมีอยู่ 2 ช่วง คือ เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมของทุกปี จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไทย ในปี 2562 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น จากรายงานขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น พบว่า ในปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น สูงถึง 1.13 ล้านคน สำหรับช่วงฤดูท่องเที่ยว (High Season) อยู่ระหว่างเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม ซึ่งดอกซากุระจะบานราวๆ ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเมษายน นอกจากนี้พบว่าคนไทยเดินทางไปประเทศจีนเฉลี่ยปีละ 6 แสนคน โดยไปกับบริษัททัวร์ประมาณ 2 แสนคน และท่องเที่ยวด้วยตนเองประมาณ 4 แสนคน
วิธีป้องกันตนเองของนักเดินทาง
ณ วันที่ 30 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่ยังไม่มีประกาศจำกัดการเดินทาง ดังนั้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- แนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ หรือประเทศที่พบการระบาดของโรค
- ระหว่างเดินทางในต่างประเทศขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม สวมใส่หน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น
- เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก ทั้งเนื้อสัตว์ ไข่ และผัก
- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
- รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย แล้วล้างมือ และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
- หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
จัดทำโดย: ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
วันที่อัพเดต: 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563